

“สิทธิในการลบข้อมูล (Right to Erasure)” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ “สิทธิที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten)” เป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูลบุคคลในการขอให้นำข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองออกจากการจัดเก็บข้อมูลหรือการครอบครองของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือองค์กรต่างๆ ด้วยการลบ ทำลาย หรือทำให้เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ เนื่องจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ต้องการให้มีการใช้ข้อมูลข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองอีกต่อไป
สิทธิในการลบข้อมูลถูกรับรองครั้งแรกในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ General Data Protection Regulation (“GDPR”) ซึ่งถืือเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดการตระหนักถึงสิทธิในการลบข้อมูล บุคคลในสหภาพยุโรป (EU) จึงมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลลบข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองตามมาตรา 17 ของ GDPR เมื่อเข้าเหตุตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลบข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อาจบ่งชี้ไปยังตัวเจ้าของข้อมูลได้ เช่น การเชื่อมโยงหลายมิติ (hyperlink) ที่ได้มีการเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์สาธารณะ หรือสำเนาข้อมูลของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (“PDPA”) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย มีการนำบทบัญญัติต่างๆ ของ GDPR มาปรับใช้ ทำให้เนื้อหาของ PDPA และ GDPR มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกันหลายประการ
สำหรับบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับสิทธิในการลบข้อมูล คือ มาตรา 33 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการกำหนดรายละเอียดสิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล กรณีที่เจ้าของข้อมูลสามารถใช้สิทธิได้ไว้ ดังนี้
1) เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลนั้นหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ใช้ประมวลผลตามวัตถุประสงค์ที่เคยให้ไว้
2) เมื่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถอนความยินยอมในการใช้ข้อมูล และผู้ควบคุมข้อมูลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้ข้อมูลนั้นอีกต่อไป
3) เมื่อเจ้าของข้อมูลใช้สิทธิคัดค้านการประมวลผลข้อมูลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้ควบคุมข้อมูลไม่สามารถปฏิเสธคำขอนั้นได้
4) เมื่อเจ้าของข้อมูลใช้สิทธิคัดค้านการประมวลผลข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการตลาดแบบตรง
5) เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลถูกประมวลผลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ว่า PDPA จะให้สิทธิเจ้าของข้อมูลในการขอลบข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง แต่กฎหมายก็ระบุข้อยกเว้นที่ผู้ควบคุมข้อมูลไม่ต้องดำเนินการลบข้อมูลได้ โดยกรณียกเว้นมีรายละเอียด ดังนี้
1) การประมวลผลข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
2) การประมวลผลข้อมูลเพื่อการประโยชน์ในการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ หรือการวิจัยและสถิติ
3) การประมวลผลข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการปฎิบัติภารกิจของรัฐ
4) การประมวลผลข้อมูลเพื่อปฎิบัติตามกฎหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเวชศาสตร์ป้องกันหรืออาชีวเวชศาสตร์ การวินิจฉัยและรักษาโรคทางการแพทย์
5) การประมวลผลข้อมูลเพื่อปฎิบัติตามกฎหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะด้านสาธารณสุข
6) การประมวลผลข้อมูลเพื่อการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือเพื่อปฎิบัติตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากผู้ควบคุมข้อมูลไม่ดำเนินการหรือปฎิเสธคำขอตามสิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล โดยไม่มีเหตุที่สมควรตามกฎหมาย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้
การจัดให้มีช่องทางใช้สิทธิ และรับมือคำร้องขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญของผู้ควบคุมข้อมูล ซึ่งจะต้องระมัดระวังในการพิจารณาเรื่องเหตุปฏิเสธคำร้องขอใช้สิทธิ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัท เอเทนติค คอนซัลติ้ง จำกัด มีผู้เชี่ยวชาญที่ยินดีให้คำปรึกษาท่านและสนับสนุนองค์กรของท่านให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วน